คลังบทความของบล็อก

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

@@ประวัติรักแรกพบของในหลวงรัชกาลที่๙

ขอขอบคุณพิเศษบทความและภาพจาก... topsecretthai
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
..พระราชินีฯ คู่ทุกข์คู่ยาก ทรงต้องระหกระเหิน จากการเมือง-สงคราม แต่วัยเยาว์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ของ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวง บัว กิติยากร

ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระราม 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเชษฐาและ พระกนิษฐภคินี รวม 3 องค์คือ
1.หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร
2.หม่อมราชวงศ์ อดุลยกิติ์ กิติยากร
3.หม่อมราชวงศ์ บุษบา กิติยากร

ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการ ในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา


ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ แล้วจึงเดินทางไปสมทบ มอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศา นุประพันธ์และท้าววนิดา พิจาริณี ผู้เป็นบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว


หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เติบโตขึ้นมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงทำให้ต้องอยู่ไกลจาก พระบิดามารดาในตอนแรก ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุเพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัด กับพระบรมวงศานุวงศ์ ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในปี พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดา ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ไปสงขลาด้วย

ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์บุตรคนโต และ หม่อมราชวงศ์บุษบาบุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกา
แล้วมารับหม่อมราชวงศ์ อดุลยกิติ์บุตรคนรอง กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จากหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนัก ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พ.ศ. 2480 หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ มีอายุได้ 5 ชันษา ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรก เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดใน แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนคร ถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้การเดินทางคมนาคมไม่สะดวกและปลอดภัย

หม่อมเจ้านักขัตรมงคล จึงให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ย้ายไปเรียนที่ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ในชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา เพราะอยู่ใกล้บ้าน และที่นี่หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งสามารถเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจาก ความสามารถทางด้าน ภาษาต่างประเทศคือ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่สามารถเรียนได้ดีเช่นกัน
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เผชิญสภาพของสงครามโลก เช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ทรงเป็นทหาร เป็นผู้ปลูกฝังให้บุตรและบุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และสงครามก็ทำให้ ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และ รักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

พ.ศ. 2489 เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สงบลง รัฐบาลไทยซึ่งขณะนั้นมี พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ สำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ

โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วยในกลางปี ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส กับครูพิเศษ ควบไปกับการเรียนเปียโน ต่อมาไม่นานนัก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ประจำประเทศเดนมาร์ก และต่อไปที่ประเทศฝรั่งเศส ตามลำดับ
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังคงเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้น เพื่อเตรียมสอบเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ที่มีชื่อของกรุงปารีส

พ.ศ. 2491 ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และ ครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นทรงเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว และเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ ในกรุงปารีสอยู่เสมอ

เรื่องราวความรักของทั้งสองพระองค์ เริ่มขึ้นวันหนึ่งในปี พ.ศ.2489 วันที่ทรงแรกพบ ครั้งนั้น ในหลวงประทับอยู่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จฯ ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อทอดพระเนตรรถยนต์พระที่นั่ง แทนคันเดิมซึ่งรับราชการสนอง พระเดชพระคุณมาเป็นเวลานาน

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส พร้อมครอบครัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันนี้เองที่ทรงพบกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล และ ม.ล.บัว กิติยากร ที่มารับเสด็จ

ก่อนทรงได้พบกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงทราบถึงความน่ารัก จากสมเด็จพระราชชนนีมาก่อนแล้ว ในการเสด็จเยือนปารีสครั้งแรก สมเด็จพระราชชนนี รับสั่งเป็นพิเศษว่า ให้ไปทอดพระเนตรลูกสาว ของ ม.จ.นักขัตรมงคล "ว่าจะสวย น่ารักไหม" ทรงกำชับว่า "เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทร.บอกแม่ด้วย"

โดยวันนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์แต่งตัวเรียบร้อย สวมสูทสีเนื้อ ไว้หางเปียยาวถึงหลัง ในหลวงเสด็จฯ มาถึงช้ากว่ากำหนด เนื่องจากรถยนต์พระที่นั่งเกิดเสีย และน้ำมันหมด พระองค์ตรัสว่าทรงจำได้ดีถึงสีหน้าของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ที่ทั้งหิวและรอนาน

เมื่อเสด็จฯ มาถึงราชเลขาฯ ได้เชิญแต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย แล้วให้เด็กไปรับประทานอาหารจีนอีกที่ จึงทำให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เคืองอยู่นิดๆ เมื่อตรัสถึงเรื่องนี้ทั้งสองพระองค์ จะทรงพระสรวล โดยในหลวง ทรงล้อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า "เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอ คอยถอนสายบัว"

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบบังคมทูลตอบว่า "ที่หน้างอ เพราะให้แต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กกลับไล่ไปกินที่อื่น" เมื่อในหลวงเสด็จฯ ถึง ก็ทรงโทรศัพท์หาสมเด็จพระราชชนนีและตรัสว่า "เห็นแล้ว น่ารักมาก"
เนื่องจากเวลาเสด็จฯ ยังกรุงปารีส ในหลวงประทับที่สถานทูตไทย เช่นเดียวกัน กับนักเรียนไทยคนอื่น ทำให้ครอบครัว ม.จ.นักขัตรมงคลซึ่งรวมถึง ม.ร.ว.สิริกิติ์ เป็นที่คุ้นเคยเบื้องพระยุคลบาท ความที่ได้พบพระพักตร์บ่อยครั้ง ทั้งยังมีความชอบในสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะการดนตรี ประกอบกับนิสัยร่าเริง สุภาพอ่อนน้อม และขี้อายในบางครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เอง ก็สนใจ และรอบรู้เข้าใจ ในศิลปะการดนตรีเป็นอย่างดี ทำให้ยิ่งประทับพระราชหฤทัย โดยมีความสวยงามของเมืองโลซาน เป็นฉากหลังที่โรแมนติกและมีความหมายยิ่งต่อทั้งสองพระองค์จนกลายเป็น ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ในที่สุด
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ข่าวใหญ่ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อในหลวงทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวา ไปยังนอกเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ คือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส
ทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ในโรงพยาบาล ในตำบลเมอร์เซส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่า พระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด
มีพระราชกระแสรับสั่งว่า เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติครั้งแรก ทรงระลึกถึงบุคคลเพียง 2 คน คือสมเด็จพระราชชนนี และ ม.ร.ว.สิริกิติ์ สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือ ทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า ส่งถวายสมเด็จพระราชชนนี พร้อมกับรับสั่งว่า “ แม่ เรียกสิริมาที “

รูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ รูปนั้น เป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย เป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์ อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด ในหลวงรับสั่งว่า “ ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ “ รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้า ม.ร.ว.สิริกิติ์ ไว้ในพระกระเป๋า
ระหว่างที่ประทับรักษา พระองค์ที่โรงพยาบาลนั้น รับสั่งให้ราชองครักษ์ ติดต่อไปยัง ม.จ.นักขัตรมงคล ให้ ม.ล.บัว กิติยากร พาธิดาทั้งสองคือ ม.ร.ว.สิริกิติ์และ ม.ร.ว.บุษบาเข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการที่ โรงพยาบาลเป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สวิสเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับเป็นธุระ จัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาใน Pensionnat Rinate Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ของโลซานน์

จนพระอาการประชวรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมเด็จพระราชชนนี ได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

เมื่อหลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจาก อาการประชวรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และ ครอบครัวมาเฝ้าฯ ที่นครโลซาน ทรงมอบหมายให้ ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้ทูลเกริ่นทาบทามเรื่องที่จะทรงขอหมั้นก่อน ขณะที่พระองค์เองมีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ล่วงหน้าแล้ว และสมเด็จพระราชชนนี รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล เป็นทางการอีกครั้ง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2492 พระราชพิธีทรงหมั้นจัดขึ้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ และประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบๆ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดา ทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระธำมรงค์หมั้น โดยค่ำวันที่ 12 สิงหาคม 2492 มีงานเลี้ยงที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน แล้วคงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป

ในหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบ โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ประกาศ ข่าวที่เผยแพร่ออกไปนำมาซึ่งความดีใจแก่ประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง สื่อมวลชนหลายสำนักทั่วโลกต่างนำเสนอข่าวนี้ หลังพระราชพิธีหมั้น

มีนาคม 2493 จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ นิวัติพระนคร จึงทรงโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับมาด้วย เพื่อร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

วันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงโปรดให้พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ขึ้น ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันต่อมาเสด็จฯ ไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและฮันนีมูนที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 3 วัน พร้อมด้วยคณะผู้ตามเสด็จโดยรถไฟ ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ นั้นมีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น ส่วนหนึ่งต้องการยลพระสิริโฉมของพระราชินีนั่นเอง

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง และทรงศึกษาต่อ

พ.ศ. 2495 ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกบรรพชาตามโบราณราชประเพณีเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน ในระหว่างที่ผนวชอยู่นี้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์

ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้เฉลิมพระอภิไธย เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม 4 พระองค์คือ

1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาล มองซัวซี นครโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494

2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ บรมจักราดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูล กิตติสิริสมบูรณ์ สว่างควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ต่อมาในปี 2515 ทรงได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมุฏราชกุมาร

3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2498 ต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ เฉลิมพระอิสริยยศ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2520

4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2500

ตลอดระยะเวลาแห่งการดำรงพระอิสริยยศ ”พระราชินี” จนถึง “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ได้ทรงปฏิบัติภารกิจ น้อยใหญ่นานัปการ ทั้งในฐานะ “พระผู้เป็นที่พึ่งของ ปวงชนชาวไทย” และในฐานะ “คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยแบ่งเบา พระราชภารกิจ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อานาประชาราษฏร์

ทั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เอง ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบท ทั่วทุกภูมิภาค แม้ตราก ตรำพระวรกาย เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้น ยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ก็มิได้ย่อท้อ

ในด้านความมั่งคงของประเทศ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารที่ปฎิบัติการสู้รบ ต่อสู้ผู้ก่อการร้ายตามชายแดนถึงฐานปฏิบัติการต่าง ๆ แม้เป็นที่เสี่ยงภยันตรายก็ทรง พระอุตสาหะเสด็จไปทรงดูแลทุกข์สุก ปลอบขวัญถึงฐานปฎิบัติการต่างๆ เป็นขวัญกำลังใจ ให้ทหารต่อสู้ปกป้องผืนแผ่นดิน

นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาชน ให้สามารถทำมาหากิน ได้อย่างสงบสุข ตราบจนต่อมา ภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็สลายลง ด้วยเดชะพระบารมีทั้ง 2 พระองค์

ในด้านการศึกษา ทรงมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหลายหลายรูปแบบ เช่น ทรงพระอุตสาหะสอนหนังสือราษฏรด้วยพระองค์เอง พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากครอบครัวที่ยากจน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ทรงรับไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์

ส่วนบิดามารดาพี่น้องของเด็ก ก็โปรดเกล้าฯให้เข้ารับ การฝึกอบรมพระราชทานความช่ายเหลือให้ปรับปรุงการประกอบอาชีพให้เป็นผล หรือให้มีความรู้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้สามารถช่วยตนเอง และครองครัวให้ดำรงชีวิตเป็นสุขตามอัตภาพ โดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาทำประโยชน์ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง โครงการจักสานย่านลิเพา และทำเครื่องปั่นดินเผาในภาคใต้

ทั้งยังโปรดเกล้าฯให้สอดแทรกเรื่อง ความรักชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาศิลปวัฒธรรมท้องถิ่น และ ประเทศ การรู้จักรักษาสุขภาพอนามัย การรู้จักพัฒนาตนเอง การเห็นความสำคัญของการศึกษาและการช่วยเหลือร่วมมือกับส่วนรวม พร้อมทั้งให้ทุกคนตระหนักว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ต้องบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เพื่อความเจริญพัฒนาของภูมิภาค

นอกจากนั้น ยังทรงอุปถัมภ์บำรุงงานด้านการศึกษาอื่น ๆ เช่น ทรงรับมูลนิธิด้านการศึกษา ไว้ในพระราชินูปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์แก่โรงเรียนที่สอนเด็กปัญญาอ่อน เรียนช้าและ พิการช่ำช้อน ทรงสนับสนุนก่อตั่งและขยายโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงส่งเสริมให้ราษฎรศึกษาด้วยตนเองโดยก่อตั่ง “ศาลารวมใจ” มีลักษณะเป็นห้องสมุด และ ศูนย์ศึกษาหาความรู้ต่างๆ รวมทั้งศูนย์รักษาพยาบาลเบื้องต้น

พระมหากรุณาธิคุณมิได้แผ่ปกป้องเฉพาะปวงชนชาวไทย หากแต่ยังทรงแผ่ปกไปถึงประชาชน ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวกัมพูชาอพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแดนไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพระราชศรัทธาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัด ทุกข์บำรุงสุขผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือ เผ่าพันธุ์

พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินนาถ มีกว้างขวางครอบคุมสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การต่างประเทศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย

พระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆเพื่อเกื่อกูลประโยชน์สุขของพสกนิกรนั้น ได้ดื่มด่ำอยู่ใน หัวใจคนไทยทั้งชาติ และหยั่งลึกลงเป็นรากฐานแห่งความจงรักภักดีต่อ พระบรมราชจักรีวงศ์เป็นผลให้เกิดความมั่งคง และนำศานติสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย

สถาบัน องค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โล่เฉลิมพระเกียรติ รางวัล และประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น องค์กรค์การเอฟเอโอ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ ซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้น และทรงเป็นผู้ “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” ฯลฯ

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ อีกมากมายที่ทูลเกล้าฯถวายปริญญา และรางวัลประกาศกิตติคุณแด่พระองค์ท่าน

นับได้ว่า เป็นบุญของชาติและประชาชนชาวไทย ที่มีสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งรัตนนารีโดยแท้ พระองค์มิได้ทรงเป็น พระบรมราชินี ที่มีพระสิริโฉมเป็นเลิศเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญ ในกิจการต่างๆ ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนโดยตลอด

ทรงยึดมั่นในพระบวรพระพุทธศาสนา พระคุณธรรม พระปัญญาคุณ และพระเมตตากรุณาคุณ ซึ่งทรงดำรงไว้มั่นคงตลอดมา เป็นปัจจัยส่งเสริม ให้พระเกียรติคุณขจายขจรไปทั่วในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย และ ในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก

อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของชาติไทย เป็นพระบรมราชินีที่ทรงได้รับการสรรเสริญ พระเกียรติคุณจากนานาประเทศ อย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าพระบรมราชินีพระองค์อื่นใดในโลก

จากพระราชประวัติของพระองค์ เห็นได้ว่า ทรงถูกนักการเมืองรังแก มาตั้งแต่พระราชสมภพแล้ว ไม่ได้มีอภิสิทธิ์พิเศษใดๆ ต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัด ตั้งแต่พระเยาว์ ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ที่มีนักการเมืองเป็นใหญ่ เมื่ออายุได้ 5 ชันษา พระองค์ต้องเผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝรั่งทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ ในกรุงเทพ

ทรงต้องย้ายโรงเรียนเพื่อความปลอดภัย พระองค์ต้องเผชิญสภาพของสงครามโลก เช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย แต่เพราะพระบิดาปลูกฝังให้พระองค์รู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และความเสียสละ หันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก หล่อหลอมให้พระองค์มีความเมตตาต่อผู้อื่น จนเป็นแม่ของแผ่นดินมาตราบจนปัจจุบัน

พระองค์จึงพระราชทานคำขวัญเนื่องในวันแม่แห่งชาติ พ.ศ.2557 คือ “ รักเรียน รู้งาน ถนอมบ้านเมืองไทย ร่วมใจสามัคคี คือ ลูกที่ดีของแม่ “ เพื่อเป็นข้อเตือนใจลูกไทยทุกคน ได้ร่วมใจสามัคคีเพื่อรักษาบ้านเมืองของเรา ให้เจริญวัฒนาไปตราบนานเท่านาน